วันอังคารที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2555

องค์ความรู้ เรื่อง การทำสีผง จากน้ำย้อมไหมสีธรรมชาติใช้แล้ว

           

           ปัจจุบันตลาดไหมไทย  มีความต้องการผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติมากขึ้น  เพราะความสวยงาม  และปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค  แต่กระบวนการย้อมสีไหมด้วยสีธรรมชาติ  ยังมีปัญหาหลายอย่าง  อาทิ  ขั้นตอนที่ซับซ้อน  ผู้ย้อมต้องมีทักษะเป็นพิเศษ  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม  ผู้สืบทอดมีไม่มากนัก  ย่อมได้สีไม่สม่ำเสมอ  สีตก  และย้อมสีเดิมไม่ได้  อีกทั้งวัตถุดิบหายาก  มีราคาสูง
            จากการที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 6  ได้ให้การสนับสนุนและพัฒนากระบวนการผลิตการย้อมเส้นไหมจากสีธรรมชาติ  แก่ผู้ประกอบการไหมอย่างต่อเนื่อง  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  การถ่ายทอดองค์ความรู้  เรื่อง เทคนิคการย้อมสีธรรมชาติในไหม  ในกิจกรรม KM ประจำปีงบประมาณ 2554  ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการไหมสามารถย้อมเส้นไหมได้สีที่สม่ำเสมอมากขึ้น  สีไม่ตก  และสามารถย้อมซ้ำได้  แต่จากการทำงานดังกล่าว  ศูนย์ฯ พบว่าผู้ประกอบการไหมใช้วัตถุดิบไม่คุ้มค่า  กล่าวคือ  การย้อมไหมแต่ละครั้งต้องใช้วัตถุดิบที่ให้สีจำนวนมาก  เช่น  เปลือก,ใบ,ลำต้นของพืช  แต่ผู้ย้อมไหมมักจะเทน้ำย้อมที่ใช้แล้วทิ้งไป  ทั้งที่ยังสามารถนำมาใช้ย้อมเส้นไหมได้อีก  สาเหตุเนื่องมาจากเส้นไหมมีไม่พอ  และไม่มีภาชนะจัดเก็บ  เพราะเป็นของเหลวที่มีปริมาณมาก  หากเก็บในรูปของเหลวเป็นเวลานานก็จะเน่าเสียได้  จึงเป็นปัญหาหนึ่งที่ควรได้รับการปรับปรุงแก้ไข  ศูนย์ฯ  จึงเห็นควรให้นำกระบวนการจัดการความรู้  มารวบรวมความรู้ที่ได้จากแหล่งต่างๆ  มารวบรวม  เรียบเรียง  กลั่นกรองและถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่อง การทำสีผง  จากน้ำย้อมไหมสีธรรมชาติที่ใช้แล้ว  เพื่อเป็นการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ให้เกิดความคุ้มค่าต่อการใช้ทรัพยากรมากที่สุด
ขั้นตอนการดำเนินงาน
1. การเตรียมวัสดุ เครื่องมือ/อุปกรณ์
2. ขั้นตอนการผลิตสีครั่งผงและการย้อมสีผง
3. ขั้นตอนการผลิตสีครั่ง (น้ำ
2) ผงและการย้อมสีผง
4. ขั้นตอนการผลิตสีมะพูดผงและการย้อมสีผง
5. ขั้นตอนการผลิตสีสบู่เลือดผงและการย้อมสีผง

1. นำครั่งมาตากแห้ง จำนวน 3 กิโลกรัม  มาล้างน้ำเพื่อกำจัดเศษดิน  และ  สิ่งสกปรกออก
2.จากนั้น นำครั่งมาตำให้ละเอียดในครก 




3. เติมน้ำ 10 ลิตร  แช่ครั่งในน้ำนาน 12 ชั่วโมง
4. จากนั้นกรองน้ำสีครั่งด้วยผ้ากรองละเอียดแล้วเก็บไว้ย้อมน้ำสีที่ 1
5. การสกัดสีครั่ง ครั้งที่  2-3 ทำโดยเติมน้ำครั้งละอีก  5 ลิตร
6. แช่ครั่งในน้ำนาน 3 ชั่วโมง  แล้วกรองน้ำสีครั่งแล้วเก็บไว้  รวมกับน้ำสีที่ 1 ทำซ้ำจนกว่าเม็ดครั่งไม่มีสี  รวมน้ำสกัดสีประมาณ 20 ลิตร
7. จากนั้นจึงกรองละเอียด 2-3 รอบ
8. นำไปต้มน้ำสีครั่งที่ 95 o C  นานประมาณ 2-3 ชั่วโมง  เพื่อให้ครั่งสุกและระเหยน้ำ ให้เหลืออัตราส่วนที่ 10 ลิตร

9. ใช้วิธีการตากแดดให้แห้ง  โดยการเทน้ำสีลงบนแผ่นพลาสติกทนความร้อน  สูงประมาณ 1 นิ้ว  เพื่อกั้นให้น้ำสีมีความหนา-บางสม่ำเสมอ 500 CC.ต่อถาด กว้าง x ยาว 34 x 48 cm.

10. นำไปตากแดดจัด 1 แดด (ตากแห้ง) เมื่อครั่งแห้ง  ครั่งจะมีลักษณะเป็นลแผ่นฟิล์มติดบนแผ่นพลาสติก
11. แยกสีผงชั่งเพื่อหาปริมาณผลผลิต กรัม หรือ เปอร์เซ็นต์ สำหรับพลาสติก  สามารถเก็บไว้ใช้ ครั้งต่อไปได้ และเก็บสีครั่งผงในภาชนะที่ป้องกันอากาศเข้าออก เช่น ถุงพลาสติก,ขวดหรือกระป๋องสีทึบเป็นต้น
12. นำน้ำครั่งที่ใช้ย้อมแล้ว (น้ำ 2 ) จำนวน 20 ลิตร
13. นำน้ำสีไปต้มที่ 95oC นานประมาณ 2-3 ชั่วโมง  ให้ระเหยน้ำเหลืออัตราส่วนที่ 10 ลิตร
14. เทน้ำสีลงบนแผ่นพลาสติกทนความร้อน  ซึ่งวางบนถาดมีขอบสูงประมาณ 1 นิ้ว  เพื่อกั้นให้น้ำสีมีความหนา-บางสม่ำเสมอ 
      500
cc. ต่อถาดกว้าง x ยาว ขนาด 34 x 48 cm.
15. นำไปตากแดดจัด 1 แดด(ตากแห้ง)
16. แยกสีผงชั่งเพื่อหาปริมาณผลผลิต กรัม หรือเปอร์เซ็นต์
17. เก็บสีผงในภาชนะที่ป้องกันอากาศเข้าออก เช่น ถุงพลาสติก หรือ ขวดสีทึบ เป็นต้น

      เพียงขั้นตอนง่ายๆ แค่นี้เองค่ะ... ท่านผู้ประกอบการก็จะได้สีผงธรรมชาติ เก็บไว้ใช้ได้นาน และช่วยประหยัดต้นทุน คุ้มค่า ไม่เสียเปล่า

                                    ด้วยความปราถนาดีจาก KM Team ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 6






วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2554

องค์ประกอบของเส้นไหม

องค์ประกอบของเส้นไหม

เส้นไหม คือ เส้นใยโปรตีนธรรมชาติ เส้นไหมประกอบด้วยโปรตีน 2 ชนิด คือ ไฟโบรอิน (Fibroin, C15H26N6O6) ซึ่งใช้ในการทอเป็นผืนผ้า และกาวไหม เรียกว่า เซริซิน (Sericin, C15H23N5O8) ที่ทำหน้าที่เป็นกาวเคลือบเส้นไฟโบรอินซึ่งเป็นเส้นใยต่อเนื่อง จำนวน 2 เส้นให้ยึดติดกัน นอกจากนั้นคือส่วนประกอบอย่างอื่น ได้แก่ ไขมัน น้ำมัน แร่ธาตุต่าง ๆ และ สีที่ปรากฏตามธรรมชาติ เป็นต้น องค์ประกอบหลักของเส้นไหมมีปริมาณดังนี้คือ
ไฟโบรอิน (Fibroin) 70—80%
เซริซิน (Sericin) 20—30%
ไขมัน แว๊กซ์ (Cere) 0.4—0.8%
สาร ไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbon) 1.2—1.6%
สารสี (Pigment) 0.2%
ปริมาณเถ้า (Ash) 0.7%


ที่มา (http://www.silk-secrets.com/secrets.html)




วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ภูมิปัญญาการย้อมสีแดงจากครั่ง



ครั่ง เป็นตัวแมลงเล็กๆ มีขนาดโตเท่าตัวไร ดำเนินชีวิตโดยวิธีใช้ปากดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นไม้เป็นอาหารและถ่ายมูลออกมาเป็นสีแดงเกาะติดอยู่บนกิ่งไม้ที่ตัวครั่งเกาะทำรังอยู่

การทำสีแดงจากครั่ง การทำสีจากครั่ง สีจากครั่งที่ได้จากการสกัดน้ำล้างครั่งโดยสารละลาย (ด่างชนิดอ่อน) เช่นโซเดียมคาร์บอเนต หรือ โซเดียมไบคาร์บอเนต เมื่อแยกเอาส่วนที่ไม่ละลายออก เหลือแต่น้ำครั่งแล้วเอาไปเคี่ยวให้แห้งผึ่งและบดเป็นผงนำไปใช้สีจากครั่งนี้ใช้ย้อมผ้าไหม ฝ้าย ย้อม ขนสัตว์ และใช้ผสมปรุงอาหารและขนม จากการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์สีจากครั่งไม่เป็นพิษแก่ ร่างกายแต่อย่างใด

วิธีการย้อมครั่งสูตรที่ 1
นำครั่งมาตากแดดให้แห้ง ตั้งไฟต้มน้ำให้เดือด นำฝ้ายชุบน้ำให้เปียก นานประมาณ 6 ชั่วโมง บิดพอเหมาะ กระตุกให้เรียงเส้น นำลงไปแช่ในน้ำสีที่เตรียมไว้ 30 นาที ยกลง บิดให้แห้งล้างน้ำให้สะอาด

วิธีการย้อมครั่งสูตรที่2
การย้อมสีแดงครั่ง ใช้ครั่ง 2 กิโลกรัม ต่อฝ้าย 1 กิโลกรัม นำครั่งตำให้แหลกแช่น้ำให้อ่อนดีใส่ ถุงหรือห่อผ้าแขวนรองน้ำที่หยดไว้ น้ำสีแรกเป็นสีแดงเข้ม เติมน้ำกรองอีกเป็นสีที่ 2 และทำอีก เป็นน้ำสีที่ 3 แต่ตามธรรมดาใช้เพียง น้ำที่ 3 หากเกินกว่านี้ไปสีจะจืดย้อมไม่ค่อยติด

วิธีการย้อมครั่งสูตรที่3
การย้อมสีแดงจากครั่ง ครั่งดิบ 1 กิโลกรัม มะขามป้อม 8-10 กิโลกรัม วิธีทำ นำผลมะขามป้อมที่เตรียมไว้โขลกให้ละเอียด บีบกรองเอาแต่น้ำของผลมะขามป้อม (ส่วนกากทิ้งไว้) นำฝ้ายที่เตรียมพร้อมจะย้อมซักน้ำสะอาดบิดให้หมาดสลัดฝ้ายให้คลายตัว เสร็จแล้วนำมาคลุกกับน้ำมะขามป้อมที่เตรียมไว้ บีบพอหมาดนำไปตากแดดประมาณ 3-4 วัน

วิธีการย้อมครั่งสูตรที่4
น้ำครั่งดิบประมาณ 1 กิโลกรัมต่อน้ำด่างประมาณ 15 ลิตร นำครั่งดิบตำให้ละเอียด นำไป ผสมกับน้ำด่าง (ซึ่งได้จากน้ำขี้เถ้า) ต้มจนเดือด เสร็จแล้วเอาฝ้ายที่เตรียมไว้ลงย้อม ถ้าสีจาง เติมครั่งลงไปอีกจะได้สีแดงตามต้องการ

วิธีการย้อมครั่งสูตรที่5
ตำครั่งให้ละเอียดนำไปต้ม จนกระทั่งน้ำครั่งละลายมีสีแดงเข้มนำเส้นฝ้ายหรือเส้นไหมที่ เตรียมไว้ลงต้มประมาณ 15 นาที หรือมากกว่านั้นดูจนน้ำสีครั่งจืด จึงนำฝ้ายหรือไหมนั้นขึ้น จากน้ำครั่งที่ต้มบิดจนแห้งนำไปผึ่งแดดจนแห้ง u3648 .ก็บไว้ใช้ต่อไป

กระบวนการย้อมครั่ง
การเตรียมฝ้ายสำหรับการย้อมใช้กระบวนการ เช่นเดียวกับการเตรียมฝ้ายในการย้อมทั่วไป เตรียมวัสดุในการย้อมครั่งให้ครบถ้วน ตำครั่งให้ละเอียดด้วยครกหรือบดให้ ละเอียดด้วยเครื่องบดไฟฟ้า ชั่งอัตราส่วนที่ระบุจนครบ


วัสดุอุปกรณ์
ถุงผ้า 1 ถุง กะละมังเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 - 10 นิ้ว (จำนวน 2 - 3 ใบ)
ถ้วยตวง 1 ชุด
ตาชั่งละเอียด 1 ตัว
ช้อนตวง 1 ชุด
ไซริงด์ 6 ซีซี. และ 50 ซีซี 1 อัน
อัตราส่วนผสม
น้ำอุ่น 1 ถ้วยตวง
ครั่งตำละเอียดร่อนแล้ว 45 - 50 กรัม
โซดาแอช (โซดาคาร์บอเนต) 1 กรัม
น้ำยากันสีตก (fixing) 1 ซีซี.
pH. 12 ครั่งตำละเอียดร่อนแล้ว


ขั้นตอนในการผสม
นำครั่งร่อนละเอียดมาชั่ง น้ำหนัก 50 กรัมใส่ภาชนะ เติมน้ำอุ่นลงในภาชนะที่ใส่ครั่งร่อน ละเอียด 1 ถ้วยตวง
เติมโซดาแอช 1 กรัม ลงในภาชนะที่ใส่ ครั่งร่อนละเอียด นำน้ำยากันสีตก 1 ซีซี. (fixing) ผสมลงในภาชนะเดียวกับภาชนะที่เติมโซดาแอช คนให้ส่วนผสมเข้ากันดี โดยสังเกตจากฟองที่เกิดขึ้นด้านบนของน้ำย้อมครั่งรอจนกระทั่งฟองดังกล่าวยุบลงหมด เทส่วนผสมลงหมดลงในถุงผ้าเพื่อกรองเอาแต่น้ำสีแดงครั่ง (สีครั่ง)จากครั่งที่ดำหรือบดละเอียด นำฝ้ายที่เตรียมไว้แล้วจุ่มลงในน้ำย้อมครั่งบีบๆ คั้นๆ ให้น้ำย้อมครั่งซึมเข้าสู่เส้นใยฝ้ายจนทั่ว บีบ บิด ฝ้ายที่ย้อมพอหมาดนำขึ้นราวตากจนแห้ง หากสีครั่งที่ย้อมยังไม่เป็นที่พอใจ สามารถแก้ไขได้ โดยการย้อมทับเป็นครั้งที่ 2 3 4 5 หรือ 6จนกว่าจะได้สีที่ต้องการ
แช่ฝ้ายที่ย้อมสีครั่งเมื่อตากแห้งแล้วลงในน้ำยากันสีตกอีก 1 ครั้งโดยใช้น้ำยากันสีตก 1 ซีซี. หรือครึ่ง ถ้วยตวง(ในกรณีที่เป็นน้ำ) น้ำ 1 ถ้วยตวง แช่ฝ้ายที่ย้อมสีครั่งแล้ว 15 - 30 นาที หากเป็นผงใช้น้ำยากันสี ตก2 ช้อนแกงต่อน้ำอุ่น 1 ถ้วยตวง
บิดขึ้นราวตากให้แห้ง นำไปซักในน้ำสะอาดจนน้ำใสจะได้ฝ้ายสีแดงจากการย้อมครั่ง


ที่มา : http://ltt.cru.in.th/texler_klank.php

ครั่งคืออะไร


ครั่งคืออะไร
ครั่ง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า แลกซิเฟอร์ แลคคา ( Laccifer lacca Kerr ) ครั่งเป็นแมลงชนิดหนึ่งตัวสีแดง ขนาดเล็กมาก อาศัยอยู่บนต้นไม้ ทำรังเป็นยางแข็งหุ้มกิ่งไม้ไว้เพื่อป้องกันตนเองให้พ้นภัยจากศรัตรู
ตัวครั่งมีประโยชน์ ใช้ทำสีสำหรับย้อมผ้าไหม หรือย้อมหน้าฟอกสีได้ รังครั่งมีประโยชน์ ใช้ทำสิ่งของได้หลายอย่างใช้เคลือบผ้าพันสายไฟฟ้า หรือเคลือบเม็ดยาให้เป็นมัน หรือทำสีผสมอาหารก็ได้ นอกจากนั้นยังใช้ทำสิ่งของชนิดอื่นๆได้อีกมากมายหลายชนิด ประโยชน์ที่สำคัญของครั่งคือ ใช้ทำแชลล์แลกสำหรับทาไม้ให้ขึ้นเงางดงามใช้ได้ทนทาน

ครั่ง ถือว่าเป็นของใช้กันมาตั้งแต่โบราณด้วยคุณสมบัติที่จะละลายเมื่อถูกความร้อน และจะแข็งตัวเมื่อเย็นลง คนสมัยโบราณใช้ครั่งสำหรับการปิดผนึกของสำคัญๆ นับตั้งแต่ของส่วนตัวไปจนถึงทรัพย์สมบัติที่มีค่าของประเทศ


ถึงแม้ว่าทุกวันนี้จะมีเครื่องมือทันสมัยมาทำหน้าที่แทนครั่งได้ แต่ว่าภาระกิจสำคัญๆ ของชาติหลายๆ อย่างก็มีครั่งเข้ามามีส่วนประกอบที่เกี่ยวข้องด้วย

ครั่งนั้นยังเป็นที่ต้องการของหลายประเทศทีเดียว แต่ว่ามีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่สามารถผลิตครั่งส่งออกได้ ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ส่งออกครั่งได้เป็นอันดับหนึ่งของโลก


ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตร บอกไว้ว่า ครั่ง คือ ยางหรือชันชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นสารที่ขับถ่ายออกจากตัวแมลงครั่ง แมลงครั่งจะอาศัยอยู่ตามกิ่งไม้ที่ใช้เลี้ยงครั่ง และใช้ปากซึ่งมีลักษณะเป็นปากดูดเจาะเข้าไปในกิ่งของต้นไม้เพื่อดูดน้ำ เลี้ยงมาเป็นอาหารและขับถ่ายครั่ง ออกมาจากภายในตัวครั่งตลอดเวลาเพื่อห่อหุ้มตัวเป็นเกราะป้องกันอันตรายจาก สิ่งภายนอก มีลักษณะ นิ่มเหนียวสีเหลืองทอง เมื่อถูกอากาศนานเข้าจะแข็งและมีสีน้ำตาล ครั่งที่เก็บได้จากต้นไม้เรียกว่า ครั่งดิบ ซึ่งมีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ เรซิน ขี้ผึ้ง สี ซาก ตัวครั่ง และสารอื่น ๆ ส่วนที่ใช้เป็นประ โยชน์ในทางอุตสาหกรรมคือ สีครั่ง และเนื้อครั่ง

เราสามารถใช้ ประโยชน์จากครั่งมากมาย เช่น ใช้สีจากครั่งในการย้อมผ้า ย้อมไหม ย้อมหนังสัตว์ ใช้ครั่งตกแต่งเครื่องใช้เครื่องเรือนให้สวยงาม ใช้เป็นส่วนประกอบในยาแผนโบราณเพื่อรักษาโรคบางชนิด นอกจากนี้ยังใช้ประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมอีกมากมายทีเดียว สุดที่จะพรรณนาไว้ ณ ที่นี้

ปัจจุบันการซื้อขายครั่งได้กระทำกันอย่างกว้างขวาง มีโรงงานผลิตอุตสาหกรรมครั่งในประเทศไทย ส่วนใหญ่โรงงานเหล่านี้จะผลิตครั่งเม็ดเพื่อส่งออกตลาดต่างประเทศ ตลาดภายในประเทศ ได้แก่ โรงงานอุตสาหกรรม และร้านค้าของป่าทั่วไป โรงงานอุตสาหกรรมจะรับซื้อครั่งจากเกษตรกรโดยตรง หรือผ่านคนกลาง ซึ่งมีหน้าที่จัดหาครั่งป้อนโรงงาน สำหรับกรณีที่ปริมาณครั่งไม่มากนัก จะมีการซื้อขายกันตามร้านค้าของป่า ซึ่งร้านค้าเหล่านี้จะทำการรวบรวมครั่งแล้วนำส่งโรงงานเพื่อแปรสภาพต่อไป

การ เลี้ยงครั่งทำได้ ไม่ยุ่งยาก แต่ต้องมีต้นไม้ที่เหมาะสม ต้นไม้ที่นิยมเลี้ยงครั่งคือต้นจามจุรี ถ้าไม่รู้จักชื่อนี้เพราะไม่ได้จบจุฬาฯ ก็พอจะรู้จักชื่อนี้ไหมล่ะ “ฉำฉา” หรือว่า “ก้ามปู” มันก็ต้นเดียวกันนั่นแหละ


ผลผลิตครั่ง

ครั่งดิบ (Stick Lac) ซึ่งเป็นครั่งที่ผู้เลี้ยงแกะหรือขุดออกจากกิ่งไม้ต้นไม้ที่ใช้เลี้ยงครั่งเหลือแต่เนื้อครั่ง จะมีวัตถุเจือปนอยู่หลายอย่าง เช่น ชัน สีครั่ง ขี้ผึ้ง ซากของแม่ครั่งที่ตาย กิ่งหรือเปลือกไม้ เป็นต้น
ครั่งเม็ด (Seed Lac) เป็นครั่งดิบที่นำมาแยกสิ่งเจือปนออกโดยการตำหรือบดครั่งดิบให้แตกออกเป็นก้อนหยาบ ๆ หลังจากนั้นนำไปร่อนผ่านตระแกรง และนำเอาครั่งที่ได้ไปล้างน้ำ จะได้ครั่งสีแดง ซึ่งจะนำไปย้อมผ้าได้ การล้างครั่งจะล้างจนกระทั่งน้ำใส จึงนำเอาครั่งที่ได้ออกตากในที่ร่มที่มีลมผ่านตลอดเวลา จะได้ครั่งที่มีความชื้นประมาณร้อยละ 8-13 ก็สามารถจำหน่ายได้ (ครั่งดิบ 100 กิโลกรัม จะผลิตครั่งเม็ดได้ 80 กิโลกรัม)
เชลแลค (Shellac) เป็นครั่งที่นำมาจากครั่งดิบและครั่งเม็ด บรรจุในถุงผ้าให้ความร้อน และบิดถุงผ้าให้แน่นเข้าเรื่อย ๆ เนื้อครั่งจะค่อย ๆ ซึมออกจากถุงผ้าใช้มีดหรือวัสดุปาดเนื้อครั่งที่ซึมออกมาใส่บนภาชนะที่อังด้วยความร้อนจากไอน้ำ จะช่วยให้เนื้อครั่งนั้นมีความอ่อนตัว หลังจากนั้นนำเนื้อครั่งที่ได้มาทำการยืดเป็นแผ่นบาง ๆ ในขณะที่ครั่งยังร้อนอยู่แล้วปล่อยให้เย็น จึงหักออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ เรียกว่า "เชลแลค" (ครั่งดิบประมาณ 100 กิโลกรัม หรือครั่งเม็ดประมาณ 85 กิโลกรัม ใช้ทำเชลแลคได้ 65 กิโลกรัม)
ครั่งแผ่น (Button Lac) หรือ "ครั่งกระดุม" เป็นครั่งที่นำมาหลอดออกทำเป็นแผ่นกลมลักษณะคล้ายกระดุม มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 นิ้ว และหนาประมาณเศษหนึ่งส่วนสี่นิ้ว ครั่งแผ่นมีวิธีทำคล้ายกับเชลแลค แต่ต่างกันที่เมื่อทำการย้ายครั่งที่หลอมละลายดีแล้ว ใช้เหล็กป้ายครั่งซึ่งกำลังร้อน ๆ อยู่ หยอดลงไปบนแผ่นเหล็กหน้าเรียบที่สะอาดและขัดเป็นเงาให้ได้ขนาดที่ต้องการ ทิ้งไว้ให้เย็น จะได้ครั่งแผ่นที่ต้องการ


ที่มา : http://www.thaiwoodcentral.com/blog

วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

สีธรรมชาติกับมนุษย์




สีธรรมชาติกับมนุษย์
สีธรรมชาติคือสีที่สกัดได้จากวัตถุดิบจากแหล่งธรรมชาติเช่น พืช สัตว์ และแร่ธาตุต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นมาจากกระบวนการตามธรรมชาติ สีธรรมชาติมีบทบาทเกี่ยวข้องกับวิถีการดำรงชีวิตของมนุษย์มายาวนานนับตั้งแต่สมัยโบราณ มนุษย์ได้เรียนรู้ที่จะนำสีจากวัสดุธรรมชาติมาใช้ในกิจกรรมต่างๆ เช่น ทาสีตามร่างกาย สีของภาชนะเครื่องปั้นดินเผา ย้อมสิ่งทอ เครื่องใช้ เครื่องนุ่งห่ม ภาพวาดฝาผนัง และเป็นส่วนประกอบในพิธีกรรมต่างๆตามความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น
สีธรรมชาติที่มีการใช้ในอดีตนั้นมักจะได้มาจาก พืช สัตว์ และแร่ธาตุต่างๆ โดยมีพัฒนาการสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น
- การใช้สีในการ ประกอบอาหาร และขนม
- การย้อมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม
- การย้อมเครื่องมือ เครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น เครื่องมือดักจับสัตว์น้ำ
- การใช้เขม่าหรือควันไฟรมเครื่องจักสานให้เกิดสีและเสริมความทนทาน
- การใช้ทำภาพเขียน

สำหรับปัจจุบันมีการหันกลับมาให้ความสนใจใช้สีจากวัสดุธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้
1. กระแสความต้องการอนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่สืบทอดกันมาจากอดีตให้คงอยู่ในสังคมสืบไป การย้อมสีธรรมชาติซึ่งเป็นหนึ่งในภูมิปัญหาท้องถิ่นจึงได้รับการสนับสนุนมากขึ้นจากทั้งภาค รัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป
2. ปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกิดจากใช้สีสังเคราะห์และสารเคมีอันตรายในอุตสาหกรรมการผลิตสิ่งทอ สารเคมีที่ตกค้างและปนเปื้อนในน้ำทิ้งที่เกิดจากกระบวนการฟอกย้อม ทำให้เกิดการเน่า-เสียของแหล่งน้ำธรรมชาติต่างๆ
3. ปัญหาความไม่ปลอดภัย และผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานฟอกย้อม ซึ่งเกิดจากการสัมผัสกับสารเคมี และสีสังเคราะห์ โดยเฉพาะสีสังเคราะห์บางประเภทที่เป็นสารก่อมะเร็ง
4. การให้ความสนใจต่อความปลอดภัยและอันตรายของสารเคมีตกค้างบนผลิตภัณฑ์สิ่งทอของประชาชน ทำให้มีการกำหนดชนิดสีสังเคราะห์ที่จะใช้กับสิ่งทอแต่ละประเภท ทำให้เกิดความระมัดระวังในการใช้สิ่งทอย้อมสีสังเคราะห์และหันมาใช้สิ่งทอที่ได้มาจากการย้อมสีธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น
5. การตื่นตัวด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ทำให้เกิดค่านิยมต่อต้านสินค้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และอุปโภค/บริโภค มีการใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือ “ผลิตภัณฑ์ฉลากเขียว” เพิ่มมากขึ้น โดยสินค้าที่ดีจะต้องเกิดจากกระบวนการผลิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่มีผลกระทบต่อผู้บริโภค และสินค้าใช้แล้วเมื่อเป็นขยะต้องไม่ก่อมลพิษต่อไป ค่านิยมดังกล่าวมีส่วนสำคัญในการผลักดัน ให้มีการหันกลับมาใช้สิ่งทอย้อมสีย้อมธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น


ข้อดีของสีธรรมชาติ
1. ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ผลิตและผู้บริโภค
2. น้ำทิ้งจากกระบวนการผลิตไม่เป็นอันตรายต่อ สิ่งแวดล้อม
3. วัตถุดิบหาได้ง่ายในชุมชนไม่ต้องใช้สีเคมีที่นำเข้าจากต่างประเทศ
4. การย้อมสีธรรมชาติสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เป็นความรู้ที่เพิ่มพูนขึ้นตามประสบการณ์ สามารถ ถ่ายทอดให้แก่คนรุ่นหลัง เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่น
5. สีธรรมชาติมีความหลากหลาย ตามชนิด อายุและ ส่วนของพืชที่ใช้ ตลอดจนชนิดของสารกระตุ้นหรือขั้น ตอนการย้อม
6. การย้อมสีธรรมชาติทำให้เห็นคุณค่าและรู้จักใช้ ประโยชน์ของทรัพยากรธรรมชาติ
7. ความสัมพันธ์ระหว่างคนย้อมสีกับต้นไม้ ย่อมก่อให้ เกิดความรัก ความหวงแหน และเรียนรู้ที่จะอนุรักษ์ และปลูกทดแทนเพื่อการผลิตที่ยั่งยืน


ข้อจำกัดของสีธรรมชาติ
1. ปริมาณสารสีในวัตถุดิบย้อมสีมีน้อย ทำให้ย้อมได้สีไม่เข้ม หรือต้องใช้ วัตถุดิบปริมาณมาก
2. ปัญหาด้านการผลิตคือไม่สามารถ ผลิตได้ในประมาณมากและไม่สามารถผลิตสีตามที่ตลาดต้องการ
3. สีซีดจางและมีความคงทนต่อแสงต่ำ
4. คุณภาพการย้อมสีธรรมชาติขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ซึ่งควบคุมได้ยาก การย้อมสีให้เหมือนเดิมจึงทำได้ยาก
5. ในการย้อมสีธรรมชาติถ้าไม่มีวิธีการ และจิตสำนึกในการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนย่อมจะกลายเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมได้

วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

วัตถุดิบย้อมสีธรรมชาติ



วัตถุดิบย้อมสี
วัตถุดิบย้อมสี ด้วยภูมิปัญญาของมนุษย์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้มีการเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากสี ซึ่งสกัดจากวัตถุดิบธรรมชาติ โดยการนำมาย้อมเส้นใยและผืนผ้า เพื่อใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มและใช้สอยในชีวิตประจำวัน สีย้อมธรรมชาตินั้นสามารถจำแนกตามแหล่งที่มาได้ดังนี้

(1)สีย้อมธรรมชาติจากแร่ธาตุ (Mineral Dyes) สีธรรมชาติประเภทนี้เป็นสีที่เกิดจากสารประกอบของโลหะ จำพวก เหล็ก โครเมียม ตะกั่ว แมงกานีส ทองแดง โคบอลต์ และนิกเกิล ซึ่งในอดีตเป็นกลุ่มสีที่มีความสำคัญมากแต่ในปัจจุบันไม่ปรากฏแหล่งผลิตและการใช้สีกลุ่มดังกล่าว สำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน ยังมีการใช้สีธรรมชาติจากแร่ธาตุในการย้อมสีสิ่งทอ คือ สีจากโคลนและดินแดง ซึ่งเป็นวัสดุที่มีสารประกอบพวกอลูมิโนซิลิเกต และสารประกอบโลหะอยู่
(2) สีย้อมธรรมชาติจากสัตว์ (Animal Dyes) สีธรรมชาติจากสัตว์ คือ สารสีที่ได้จากสารที่ขับออกจาก ตัวสัตว์ หรือตัวสัตว์เอง สำหรับประเทศไทยมีการใช้สีจากแมลง คือ ครั่ง โดยตัวครั่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงของต้นไม้แล้วขับสารสีแดงที่เรียกว่า ยางครั่ง ออกมาหุ้มรอบตัวเป็นรัง สารสีแดงที่ถูกขับออกมาจากตัวครั่งดังกล่าวมานี้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ ทั้งในการย้อมสิ่งทอ ผสมในอาหาร และใช้ในอุตสาหกรรมหลายประเภท สำหรับเส้นใยที่ย้อมด้วยครั่งคือ ไหม ขนสัตว์ และฝ้าย เชื่อกันว่าคุณภาพของสีทีได้จากการย้อมด้วยครั่งจะขึ้นกับชนิดของต้นไม้ที่ ใช้เลี้ยงครั่ง
(3) สีย้อมธรรมชาติจากพืช (Vegetable Dyes)สีย้อมที่ได้จากพืชจัดเป็นกลุ่มสารสีหลักของสีย้อมธรรมชาติ โดยเป็นสีย้อมที่ได้จากทุกส่วนของพืชทั้ง ราก เปลือก ลำต้น เนื้อไม้ ใบ ดอก ผล และเมล็ด ซึ่งสีย้อมกลุ่มนี้มีความหลากหลาย สามารถแบ่งโดยใช้กรรมวิธีการย้อมเป็นเกณฑ์ได้ 2 กลุ่มคือ
• การย้อมเย็น หรือการย้อมแบบหมัก เป็นสีย้อมที่ได้จากพืช เช่น ผลมะเกลือ ห้อม และคราม เป็นการย้อมสีจากพืชที่มีกรรมวิธีการย้อมโดยไม่ใช้ความร้อน แต่อาศัยคุณสมบัติธรรมชาติของสารสี และปฏิกิริยาเคมีทางธรรมชาติช่วยให้สารสีติดกับเส้นใย โดยจะหมักเส้นใยไว้ในน้ำย้อมที่อุณหภูมิปกติ ซึ่งพืชแต่ละชนิดจะมีรายละเอียดวิธีการย้อมที่แตกต่างกันตามชนิดของสารสีที่ได้จากพืช
• การย้อมแบบร้อน สีย้อมธรรมชาติที่ใช้การย้อมแบบร้อน จะเป็นสีย้อมที่ได้จากพืชทั่วไปและครั่ง โดยจะนำวัตถุดิบย้อมสีมาสับให้ละเอียดแล้วต้มให้เดือดเพื่อสกัดสารสีออกจากพืช จากนั้นจึงทำการย้อมกับเส้นใย จะมีการใช้ความร้อนและสารช่วยย้อมช่วยให้สารสีติดกับเส้นใย


สารช่วยย้อม
พืชแต่ละชนิดที่นำมาย้อมใช้เส้นใยธรรมชาติมีการติดสีและคงทนต่อการขัดถูหรือแสงไม่เท่ากันขึ้น อยู่กับองค์ประกอบภายในของพืชและเส้นใยที่นำมาใช้ย้อม จึงมีการใช้สารประกอบต่างๆ มาเป็นตัวช่วยในการทำให้เส้นใยดูดซับสีให้สีเกาะเส้นใยได้แน่นขึ้น มีความทนทานต่อแสง และการขัดถูเพิ่มขึ้น ซึ่งเรียกว่า สารช่วยย้อม และสารช่วยให้สีติด สารเหล่านี้นอกจากจะเป็นตัวจับยึดสี และเพิ่มการติดสีในเส้นใยแล้วยังช่วยเปลี่ยนเฉดสีให้เข้มจาง หรือสดใส สว่างขึ้น
(1.) สารช่วยย้อม หรือ สารกระตุ้นสี เป็นสารที่ช่วยให้สีติดกับเส้นด้ายดีขึ้นและเปลี่ยนเฉดสีธรรมชาติให้เปลี่ยนแปลงไปจากสีเดิม ในสมัยโบราณจะใช้การเติมมูลหรือปัสสาวะสัตว์ลงไปในถังย้อม ปัจจุบันมีการใช้สารที่ได้จากทั้งสารเคมีและสารธรรมชาติดังนี้

(1.1) สารช่วยย้อมเคมี (มอร์แดนท์) หมายถึง วัตถุธาตุที่ใช้ผสมสีเพื่อให้สีติดแน่นกับผ้าที่ย้อม ส่วนใหญ่เป็นเกลือของโลหะพวกอลูมิเนียม เหล็ก ทองแดง ดีบุก โครเมียม สำหรับมอร์แดนท์ที่แนะนำให้ใช้สำหรับการย้อมระดับอุตสาหกรรมในครัวเรือนเป็นสารเคมีเกรดการค้า ซึ่งมีราคาถูก คุณภาพเหมาะสมกับงาน มีวิธีการใช้งานที่สะดวกโดยการชั่ง ตวง วัดพื้นฐาน แล้วนำไปละลายน้ำตามอัตราส่วนที่ต้องการและหาซื้อได้ง่ายจากร้านค้าสารเคมีทางวิทยาศาสตร์ หรือทางการแพทย์ทั่วไป สารมอร์แดนท์ที่ใช้กันทั่วไปคือ
• สารส้ม (มอร์แดนท์อลูมิเนียม) จะช่วยจับยึดสีกับเส้นด้ายและ ช่วยให้สีสด สว่างขึ้น มักใช้กับการย้อมสี น้ำตาล-เหลือง-เขียว
• จุนสี (มอร์แดนท์ทองแดง) ช่วยให้สีติดและเข้มขึ้น ใช้กับการย้อม สีเขียว-น้ำตาล ข้อแนะนำสำหรับการใช้มอร์แดนท์ทองแดง คือ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากเกินไปเพราะจะทำให้เกิดการตกค้าง ของทองแดงในน้ำทิ้งหลังการย้อมได้
• เฟอรัสซัลเฟต (มอร์แดนท์เหล็ก) เหล็กจะช่วยให้สีติดเส้นด้ายและช่วยเปลี่ยนเฉดสีธรรมชาติเดิมจากพืชเป็นสีโทน เทา–ดำ ซึ่งมอร์แดนเหล็กมีข้อดี คือ สามารถควบคุมปริมาณการใช้ได้ แต่มีข้อควรระวังคือไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากเกินไปเพราะเหล็กจะทำให้เส้นด้ายเปื่อย

(1.2) สารช่วยย้อมธรรมชาติ (มอร์แดนท์ธรรมชาติ) หมายถึง สารประกอบน้ำหมักธรรมชาติ ที่ช่วยในการยึดสีและบางครั้งทำให้เฉดสีเปลี่ยน เช่น น้ำปูนใส น้ำด่าง น้ำโคลน และน้ำบาดาล
• น้ำปูนใส ได้จากปูนขาวที่ใช้กินกับหมาก หรือทำจากปูนจากการเผาเปลือกหอย โดยละลายปูนขาวในน้ำสะอาด ทิ้งไว้ให้ตกตะกอน จะได้น้ำปูนใสมาใช้เป็นสารช่วยย้อมต่อไป
• น้ำด่าง หรือน้ำขี้เถ้า ได้จากขี้เถ้าพืช เช่น ส่วนต่างๆ ของกล้วย ต้นผักขม เปลือกของผลนุ่น กากมะพร้าว เป็นต้น เลือกพืชชนิดใดชนิดหนึ่งที่ยังสดๆ นำมาผึ่งแดดให้หมาด จากนั้นเผาให้เป็นขี้เถ้าสีขาว นำขี้เถ้าไปใส่ในอ่างที่มีน้ำอยู่ กวนให้ทั่วทิ้งไว้ 4 – 5 ชั่วโมงขี้เถ้าจะตกตะกอน นำน้ำที่ได้ไปกรองให้สะอาดแล้วจึงนำไปใช้งาน เรียกว่า “น้ำด่างหรือน้ำขี้เถ้า” อีกวิธีหนึ่งนำขี้เถ้าที่ได้ไปใส่ในกระป๋องที่เจาะรูเล็กๆ รองก้นด้วยปุยฝ้าย หรือใยมะพร้าวใส่ขี้เถ้าจนเกือบเต็ม กดให้แน่นเติมน้ำให้ท่วมขี้เถ้า แขวนกระป๋องทิ้งไว้ รองเอาแต่น้ำด่างไปใช้งาน
• กรด ได้จากพืชที่มีรสเปรี้ยว เช่น น้ำมะนาว น้ำใบหรือฝักส้มป่อย น้ำมะขามเปียก
• น้ำบาดาล หรือ น้ำสนิมเหล็ก จะใช้น้ำบ่อบาดาลที่เป็นสนิม หรือนำเหล็กไปเผาไฟให้แดงแล้วนำไปแช่ในน้ำ ทิ้งไว้ 3 วันจึงนำน้ำสนิมมาใช้ได้ น้ำสนิมจะช่วยให้สีเข้มขึ้น ให้เฉดสีเทา-ดำเหมือนมอร์แดนท์เหล็ก แต่ถ้าสนิมมากเกินไปจะทำให้เส้นใยเปื่อยได้เช่นกัน
• น้ำโคลน เตรียมจากโคลนใต้สระ หรือบ่อที่มีน้ำขังตลอดปี ใช้ดินโคลนมาละลายในน้ำเปล่าสัดส่วนน้ำ 1 ส่วนต่อดินโคลน 1 ส่วนจะช่วยให้ได้โทนสีเข้มขึ้น หรือโทนสีเทา-ดำเช่นเดียวกับน้ำสนิม

การใช้สารช่วยย้อมในการย้อมผ้ามี 3 วิธี คือ
1. การใช้ก่อนการย้อมสี ซึ่งต้องนำเส้นด้ายไปชุบสารช่วยย้อมก่อนนำไปย้อมสีธรรมชาติ
2. การใช้พร้อมกับการย้อมสี เป็นการใส่สารช่วยย้อมไปในน้ำสีแล้วจึงนำเส้นด้ายลงย้อม
3. การใช้หลังย้อมสี นำเส้นด้ายไปย้อมสีก่อนแล้วจึงนำไปย้อมกับสารช่วยย้อมภายหลัง

( 2.) สารช่วยให้สีติด ในการย้อมสีธรรมชาติมีการใช้สารช่วยให้สีติดเส้นด้าย โดยสารดังกล่าวจะใช้ย้อมเส้นด้ายก่อนการย้อมสี หรือใช้ผสมในน้ำสีย้อม
• สารฝาด หรือ แทนนิน สารแทนนินจะมีอยู่ในส่วนต่างๆ ของพืชที่มีรสฝาดและขม เช่น ลูกหมาก เปลือกเพกา เปลือกสีเสียด เปลือกผลทับทิม เปลือกประดู่ ใบยูคา ใบเหมือดแอ เป็นต้น ซึ่งสารดังกล่าวมีคุณสมบัติช่วยให้สีติดกับเส้นด้ายได้ดีขึ้น โดยการต้มสกัด น้ำฝาด หรือแทนนินจากพืชดังกล่าว แล้วนำเส้นด้ายต้มย้อมกับน้ำฝาดก่อน จากนั้นจึงนำเส้นด้ายไปย้อมกับน้ำสีย้อมอีกครั้ง
• โปรตีนจากน้ำถั่วเหลือง ใช้ต้มกับเส้นด้ายก่อนการย้อมสีเพื่อช่วยในการเพิ่มโปรตีนบนเส้นด้ายทำให้สามารถย้อมสีติดได้ดีมากขึ้น ทางญี่ปุ่นจะชุบฝ้ายไหมด้วยน้ำถั่วเหลืองก่อนเสมอ โดยแช่ไว้ 1 คืน ยิ่งทำให้สีติดมาก ในญี่ปุ่นการสีธรรมชาติทั้งหมดแช่เส้นใยด้วยน้ำถั่วเหลืองเสมอ
• เกลือแกง จะใช้ผสมกับน้ำสีย้อมเพื่อช่วยให้สีติดเส้นด้ายได้ง่ายขึ้น

ที่มา : http://www.ist.cmu.ac.th

จากภูมิปัญญาพัฒนาผ้าไหมสีธรรมชาติเพื่อการค้า


การย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติโดยใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เป็นภูมิปัญญาที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาจวบจนปัจจุบัน ผ้าไหมสีธรรมชาติมักมีสีนุ่มนวล บางผืนย้อมด้วยวัสดุที่เป็นสมุนไพร จึงเป็นผลดีต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตาม สีธรรมชาติบางสีซีดจางง่าย สีเปลี่ยนเมื่อนำไปซัก และอาจมีสีตกได้ ในการย้อมแต่ละครั้ง ต้องใช้วัสดุให้สีปริมาณมาก ดังนั้นการผลิตผ้าย้อมสีธรรมชาติเพื่อการค้า จึงควรเลือกใช้วัสดุ หรือพืชให้สีที่หาได้ง่าย เมื่อย้อมแล้วให้สีที่คงทนต่อแสง และการซักดีผ่านเกณฑ์มาตรฐาน สีไม่ตก และไม่ซีดง่าย เพราะผู้ซื้อไม่สามารถย้อมทับได้ เมื่อสีเปลี่ยน
จากผลการวิจัยพบวัสดุธรรมชาติ และพืชหลายชนิดย้อมไหมได้สีคุณภาพระดับดี เหมาะสำหรับใช้ย้อมผลิตผ้าไหมเพื่อการค้าได้



ครั่ง เป็นแมลงที่มีสีแดง มักสร้างรังบนต้นจามจุรี หรือฉำฉา ใช้เป็นวัสดุย้อมไหม และฝ้าย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ย้อมไหมได้สีแดงถึงสมพู สีคงทนต่อแสงและการซักดีมาก ยังมีพันธุ์ไม้ในท้องถิ่นที่ย้อมไหมได้สีชมพูอมแดง หรือแดงอมน้ำตาล เช่น เปลือกต้นธนนไชย เปลือกต้นนนทรี เป็นต้น

แก้ว หรือตะไหลแก้ว แก้วพริก จ๊าพริก แก้วขาว แก้วขี้ไก่ เขี้ยวขี้ควาย ใช้ใบสดย้อมไหมได้สีเขียวอ่อนอมเหลือง สีคงทนต่อแสง และการซักถึงดีปานกลาง ใบสดของต้นหูกวาง ใช้ย้อมไหมได้ไหมสีเขียวเช่นกัน

ดาวเรือง หรือคำปูจู้หลวง (ภาคเหนือ) หรือพอทู ในภาษากะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน กลีบดอกใช้ย้อมไหมได้สีเหลืองทอง สีมีความคงทนต่อแสง และการซักดี และดีปานกลาง พืชอื่นที่ใช้ย้อมแล้วได้ไหมสีเหลือง คุณภาพดี เช่น เปลือกต้นเพกา ใบสมอไทย ใบยูคาลิปตัส ใบยอบ้าน ใบขี้เหล็กบ้าน เป็นต้น

ราชพฤกษ์ คูณ ชัยพฤกษ์ หรือเรียกลมแล้ง (ภาคเหนือ) ลักเคย ลักเกลือ (ภาคใต้) นิยมใช้ฝักในการย้อมไหม ฝักสดย้อมได้สีม่วงอมน้ำตาล ส่วนฝักแก่ย้อมได้สีน้ำตาล สีคงทนต่อแสง และการซักระดับดี พืชอื่นในท้องถิ่นที่นำมาใช้ย้อมไหมได้โทนสีม่วง ได้แก่ เหง้ากล้วย ผลคนทาหมักโคน ย้อมไหมได้สีม่วงอมเทา

มะเกลือ หรือมะเกอ มักเกลือ (เขมร-ตราด) ผีเผา (เงี้ยว-ภาคเหนือ) ผลสดดิบใช้ย้อมไหมได้สีดำ หรือน้ำตาลดำ สีคงทนต่อแสง และการซักระดับดีมาก เทคนิคการย้อมไหมให้ได้โทนสีดำ มักใช้การแช่หมักเส้นไหมในน้ำโคลน หลังจากย้อมด้วยน้ำสกัดจากพืชอื่น ๆ เช่น หมักโคลนเส้นไหมที่ย้อมด้วยผลกระบก เปลือกเงาะโรงเรียน เป็นต้น

การย้อมไหมให้ได้โทนสีน้ำตาล นิยมย้อมด้วยสีสกัดจากเปลือกไม้ เช่น เปลือกต้นสมอไทย เปลือกต้นประดู่ เปลือกต้นยูคาลิปตัส

ขั้นตอน วิธีสกัดสี และย้อมไหมด้วยสีธรรมชาติ

การย้อมไหมด้วยสีธรรมชาติ ทั่วไปมีขั้นตอนง่าย ๆ เริ่มจากสกัดสี น้ำที่สกัดได้นำไปย้อมเส้นไหมที่ลอกกาวแล้ว
การสกัดสีจากเปลือกไม้ : สับเปลือกไม้เป็นชิ้นเล็ก ๆ แช่น้ำ 1 คืน แล้วนำมาต้มเคี่ยว 1-2 ชั่วโมง กรองกากทิ้ง อัตราเปลือกสด : ไหม = 6 : 1 หรืออัตราเปลือกแห้ง : ไหม 2 : 1

การสกัดสีจากใบหรือดอก : นึ่งใบหรือดอกด้วยไอน้ำ 5-10 นาที แล้วแช่น้ำเย็น 10-15 นาที จากนั้นต้มด้วยไฟอ่อนประมาณ 1 ชั่วโมง: ไหม = 8 ถึง 10 : 1 หรืออัตราเปลือกแห้ง : ไหม 2 : 1

การสกัดสีจากผล : ผลแห้ง ทุบให้แหลก แล้วสกัดน้ำย้อมเช่นเดียวกับวิธีสกัดจากเปลือกไม้ ผลสดทุบ หรือโขลกให้นุ่ม หรือแหลกก่อนคั้นน้ำ หรือต้มเคี่ยวด้วยไฟอ่อน (ขึ้นกับชนิดพืช)

การย้อมเส้นไหม : ด้วยวิธีแช่ และนวดเส้นไหมเบา ๆ ในน้ำย้อม ที่อุณหภูมิปกติจนได้สีที่ต้องการ เรียก "ย้อมเย็น" หรือย้อมที่อุณหภูมิ 80-85 องศาเซลเซียส นาน 60 นาที เรียก "ย้อมร้อน" ระหว่างย้อมให้พลิกกลับเส้นไหมบ่อย ๆ เพื่อให้เส้นไหมติดสีสม่ำเสมอ อาจย้อมเย็นก่อน แล้วย้อมร้อนต่อจนครบเวลา 60 นาที จึงนำเส้นไหมขึ้น และล้างในน้ำอุ่น 1-2 ครั้ง จากนั้นล้างด้วยน้ำยาทำความสะอาดที่ไม่มีสี กลิ่น แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดจนหมดฟอง ขั้นตอนสุดท้ายบีบน้ำออกให้เส้นไหมหมาด กระตุกให้เรียงเส้น และผึ่งให้แห้งในที่ร่ม ปกติการย้อมไหม 1 กิโลกรัมแบบย้อมเย็น จะใช้น้ำย้อม 20-25 ลิตร ส่วนการย้อมร้อนใช้ 30 ลิตร
การแช่เส้นไหมในสารช่วยย้อม เช่น น้ำสารส้ม น้ำต้มใบพืช ได้แก่ ใบยูคาลิปตัส ใบเหมือด ก่อนหรือหลังการย้อม หรือผสมในน้ำย้อม จะช่วยให้สีที่ย้อมติดคงทนดีขึ้น ยังมีวัสดุธรรมชาติ และพันธุ์ไม้ย้อมสีหลายชนิด ใช้ย้อมเส้นไหมได้สีสันหลากหลาย ทั้งนี้ขึ้นกับพืช ฤดูกาล และเทคนิคการย้อม สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 1275


ที่มา : http://www.ku.ac.th