เพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในองค์กร ของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 6 ซึ่งมีความสะดวก เข้าถึงแหล่งข้อมูลอย่างรวดเร็ว ทุกที่ ทุกเวลา โดยใช้ระบบสารสนเทศ IT เป็นสื่อกลางให้พวกเรา ได้แลกเปลี่ยนระหว่างกัน
วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2554
จากภูมิปัญญาพัฒนาผ้าไหมสีธรรมชาติเพื่อการค้า
การย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติโดยใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เป็นภูมิปัญญาที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาจวบจนปัจจุบัน ผ้าไหมสีธรรมชาติมักมีสีนุ่มนวล บางผืนย้อมด้วยวัสดุที่เป็นสมุนไพร จึงเป็นผลดีต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตาม สีธรรมชาติบางสีซีดจางง่าย สีเปลี่ยนเมื่อนำไปซัก และอาจมีสีตกได้ ในการย้อมแต่ละครั้ง ต้องใช้วัสดุให้สีปริมาณมาก ดังนั้นการผลิตผ้าย้อมสีธรรมชาติเพื่อการค้า จึงควรเลือกใช้วัสดุ หรือพืชให้สีที่หาได้ง่าย เมื่อย้อมแล้วให้สีที่คงทนต่อแสง และการซักดีผ่านเกณฑ์มาตรฐาน สีไม่ตก และไม่ซีดง่าย เพราะผู้ซื้อไม่สามารถย้อมทับได้ เมื่อสีเปลี่ยน
จากผลการวิจัยพบวัสดุธรรมชาติ และพืชหลายชนิดย้อมไหมได้สีคุณภาพระดับดี เหมาะสำหรับใช้ย้อมผลิตผ้าไหมเพื่อการค้าได้
ครั่ง เป็นแมลงที่มีสีแดง มักสร้างรังบนต้นจามจุรี หรือฉำฉา ใช้เป็นวัสดุย้อมไหม และฝ้าย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ย้อมไหมได้สีแดงถึงสมพู สีคงทนต่อแสงและการซักดีมาก ยังมีพันธุ์ไม้ในท้องถิ่นที่ย้อมไหมได้สีชมพูอมแดง หรือแดงอมน้ำตาล เช่น เปลือกต้นธนนไชย เปลือกต้นนนทรี เป็นต้น
แก้ว หรือตะไหลแก้ว แก้วพริก จ๊าพริก แก้วขาว แก้วขี้ไก่ เขี้ยวขี้ควาย ใช้ใบสดย้อมไหมได้สีเขียวอ่อนอมเหลือง สีคงทนต่อแสง และการซักถึงดีปานกลาง ใบสดของต้นหูกวาง ใช้ย้อมไหมได้ไหมสีเขียวเช่นกัน
ดาวเรือง หรือคำปูจู้หลวง (ภาคเหนือ) หรือพอทู ในภาษากะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน กลีบดอกใช้ย้อมไหมได้สีเหลืองทอง สีมีความคงทนต่อแสง และการซักดี และดีปานกลาง พืชอื่นที่ใช้ย้อมแล้วได้ไหมสีเหลือง คุณภาพดี เช่น เปลือกต้นเพกา ใบสมอไทย ใบยูคาลิปตัส ใบยอบ้าน ใบขี้เหล็กบ้าน เป็นต้น
ราชพฤกษ์ คูณ ชัยพฤกษ์ หรือเรียกลมแล้ง (ภาคเหนือ) ลักเคย ลักเกลือ (ภาคใต้) นิยมใช้ฝักในการย้อมไหม ฝักสดย้อมได้สีม่วงอมน้ำตาล ส่วนฝักแก่ย้อมได้สีน้ำตาล สีคงทนต่อแสง และการซักระดับดี พืชอื่นในท้องถิ่นที่นำมาใช้ย้อมไหมได้โทนสีม่วง ได้แก่ เหง้ากล้วย ผลคนทาหมักโคน ย้อมไหมได้สีม่วงอมเทา
มะเกลือ หรือมะเกอ มักเกลือ (เขมร-ตราด) ผีเผา (เงี้ยว-ภาคเหนือ) ผลสดดิบใช้ย้อมไหมได้สีดำ หรือน้ำตาลดำ สีคงทนต่อแสง และการซักระดับดีมาก เทคนิคการย้อมไหมให้ได้โทนสีดำ มักใช้การแช่หมักเส้นไหมในน้ำโคลน หลังจากย้อมด้วยน้ำสกัดจากพืชอื่น ๆ เช่น หมักโคลนเส้นไหมที่ย้อมด้วยผลกระบก เปลือกเงาะโรงเรียน เป็นต้น
การย้อมไหมให้ได้โทนสีน้ำตาล นิยมย้อมด้วยสีสกัดจากเปลือกไม้ เช่น เปลือกต้นสมอไทย เปลือกต้นประดู่ เปลือกต้นยูคาลิปตัส
ขั้นตอน วิธีสกัดสี และย้อมไหมด้วยสีธรรมชาติ
การย้อมไหมด้วยสีธรรมชาติ ทั่วไปมีขั้นตอนง่าย ๆ เริ่มจากสกัดสี น้ำที่สกัดได้นำไปย้อมเส้นไหมที่ลอกกาวแล้ว
การสกัดสีจากเปลือกไม้ : สับเปลือกไม้เป็นชิ้นเล็ก ๆ แช่น้ำ 1 คืน แล้วนำมาต้มเคี่ยว 1-2 ชั่วโมง กรองกากทิ้ง อัตราเปลือกสด : ไหม = 6 : 1 หรืออัตราเปลือกแห้ง : ไหม 2 : 1
การสกัดสีจากใบหรือดอก : นึ่งใบหรือดอกด้วยไอน้ำ 5-10 นาที แล้วแช่น้ำเย็น 10-15 นาที จากนั้นต้มด้วยไฟอ่อนประมาณ 1 ชั่วโมง: ไหม = 8 ถึง 10 : 1 หรืออัตราเปลือกแห้ง : ไหม 2 : 1
การสกัดสีจากผล : ผลแห้ง ทุบให้แหลก แล้วสกัดน้ำย้อมเช่นเดียวกับวิธีสกัดจากเปลือกไม้ ผลสดทุบ หรือโขลกให้นุ่ม หรือแหลกก่อนคั้นน้ำ หรือต้มเคี่ยวด้วยไฟอ่อน (ขึ้นกับชนิดพืช)
การย้อมเส้นไหม : ด้วยวิธีแช่ และนวดเส้นไหมเบา ๆ ในน้ำย้อม ที่อุณหภูมิปกติจนได้สีที่ต้องการ เรียก "ย้อมเย็น" หรือย้อมที่อุณหภูมิ 80-85 องศาเซลเซียส นาน 60 นาที เรียก "ย้อมร้อน" ระหว่างย้อมให้พลิกกลับเส้นไหมบ่อย ๆ เพื่อให้เส้นไหมติดสีสม่ำเสมอ อาจย้อมเย็นก่อน แล้วย้อมร้อนต่อจนครบเวลา 60 นาที จึงนำเส้นไหมขึ้น และล้างในน้ำอุ่น 1-2 ครั้ง จากนั้นล้างด้วยน้ำยาทำความสะอาดที่ไม่มีสี กลิ่น แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดจนหมดฟอง ขั้นตอนสุดท้ายบีบน้ำออกให้เส้นไหมหมาด กระตุกให้เรียงเส้น และผึ่งให้แห้งในที่ร่ม ปกติการย้อมไหม 1 กิโลกรัมแบบย้อมเย็น จะใช้น้ำย้อม 20-25 ลิตร ส่วนการย้อมร้อนใช้ 30 ลิตร
การแช่เส้นไหมในสารช่วยย้อม เช่น น้ำสารส้ม น้ำต้มใบพืช ได้แก่ ใบยูคาลิปตัส ใบเหมือด ก่อนหรือหลังการย้อม หรือผสมในน้ำย้อม จะช่วยให้สีที่ย้อมติดคงทนดีขึ้น ยังมีวัสดุธรรมชาติ และพันธุ์ไม้ย้อมสีหลายชนิด ใช้ย้อมเส้นไหมได้สีสันหลากหลาย ทั้งนี้ขึ้นกับพืช ฤดูกาล และเทคนิคการย้อม สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 1275
ที่มา : http://www.ku.ac.th
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น